
Dyson V8 ใช้รากฐานเดียวกับ V6 แต่ปรับปรุงให้ดีขึ้น
ทั้ง dyson V6 และ V8 นั้นใช้รากฐานของเทคโนโลยีเดียวกันครับ คือเครื่องดูดฝุ่นทั้งคู่ใช้ระบบไซโคลนเรเดียล 2 ชั้นเพื่อสร้างแรงเหวี่ยงฝุ่นออกจากอากาศเหมือนกัน ใช้ดิจิทัลมอเตอร์เหมือนกัน รวมถึงการออกแบบตัวเครื่องและสมดุลน้ำหนักในลักษณะเดียวกัน ทำให้สามารถยกเครื่องขึ้นทำความสะอาดเพดานได้ไม่ยากเย็น แต่ในฐานะที่เป็นพ่อบ้านที่ใช้ Dyson V6 มายาวนานก็พบว่ามันยังมีจุดอ่อนอยู่หลายเรื่อง
ปัญหาของ Dyson V6 เดิม
- ลมที่ออกจากเครื่อง dyson V6 จะยังมีฝุ่นละเอียดอยู่ เมื่อใช้ไปสักพักจะรู้สึกเจ็บคอ โดยเฉพาะเวลาที่โดนลมจากเครื่องอัดใส่หน้า
- ถังเก็บฝุ่นต้องออกแรงในการทำความสะอาดสักหน่อย ต้องเคาะกันหลายทีกว่าฝุ่นจะตกลงไปหมด
- แบตเตอรี่ใช้ได้นานประมาณ 20 นาทีสำหรับการใช้ในโหมดธรรมดาที่ไม่ใส่หัวดูดที่มีมอเตอร์ ซึ่งไม่พอสำหรับการทำความสะอาดห้องแบบครั้งใหญ่ ต้องอาศัยเวลาชาร์จอีกหลายชั่วโมงถึงจะกลับมาใช้ได้อีกครั้ง
ซึ่งจุดอ่อนเหล่านี้ได้แก้ไขเรียบร้อยแล้วใน Dyson V8 ครับ
Dyson V8 ทำงานได้เงียบลง ลมที่ออกมาสะอาดขึ้น
ต้นเหตุของเสียงดังในเครื่องดูดฝุ่นนั้นไม่ได้มาจากเสียงการทำงานของมอเตอร์อย่างเดียวนะครับ แต่อีกสาเหตุหนึ่งเลยคือเสียงอากาศที่วิ่งอยู่ภายในเครื่อง Dyson V8 จึงปรับปรุงทางเดินอากาศภายในเครื่องใหม่ให้เสียงเบาลง แถมยังใส่วัสดุซับเสียงหลายอย่างลงไปในเครื่อง รวมถึงเพิ่ม HEPA filter เข้าไปที่ท้ายเครื่องด้วย ทำให้เสียงในการทำงานนั้นเบาลงอย่างเห็นได้ชัด
ซึ่ง HEPA filter หรือ High Efficiency Particulate Air Filter ตัวนี้แหละครับที่เป็นกุญแจสำคัญในการกรองเอาฝุ่นที่มีขนาดไม่ต่ำกว่า 0.3 ไมครอนออกไปจากลมที่ออกจากเครื่องดูดฝุ่นได้ ลดอากาศเจ็บคอหลังการใช้งานเครื่องดูดฝุ่นได้ แล้วเมื่อใช้ไปสักพักก็สามารถถอดฟิลเตอร์ตัวนี้ออกมาทำความสะอาดด้วยการล้างน้ำได้ด้วย
กำลังดูดสูงขึ้น แบตเตอรี่ใช้งานได้นานกว่าเดิม

เปรียบเทียบระหว่าง Dyson V6 ตัวซ้าย และ Dyson V8 ตัวขวา จะเห็นว่า V8 มีแบตเตอรี่ที่ใหญ่กว่า ตัวเครื่องยาวกว่าจากฟิลเตอร์ที่อยู่ด้านหลัง
Dyson นั้นเริ่มต้นผลิตเครื่องดูดฝุ่นไร้สายมาตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งหัวใจที่ทำให้ผลิตเครื่องดูดฝุ่นที่มีขนาดเล็กจนสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องเสียบปลั้กคือมอเตอร์นี่แหละครับ ซึ่งมอเตอร์ดิจิทัลรุ่น V8 ที่ใช้ในเครื่องรุ่นนี้สามารถหมุนได้ถึง 110,000 รอบต่อนาที หรือเร็วกว่าเครื่องยนต์รถ F1 อยู่ 5 เท่า มีพลัง 425 W เทียบกับมอเตอร์ V6 เดิมที่ให้กำลัง 350 W และเมื่อใช้โหมดเร่งพลัง (Max Mode) ก็ให้กำลังดูดได้สูงสุด 115 AW (Air Watts) เมื่อเทียบกับรุ่น V6 ที่ให้กำลังดูดสูงสุด 100 AW

ปริมาณฝุ่นจากการทำความสะอาดโซฟา 1 ตัว ด้วยหัวมอเตอร์ขนาดเล็ก จะเห็นว่านอกจากฝุ่นขนาดใหญ่ที่เห็นเป็นใยแล้ว ยังมีฝุ่นขนาดเล็กแบบผงแป้งที่ Dyson สามารถดูดทำความสะอาดได้ด้วย
แบตเตอรี่ที่ยาวนานขึ้น ทำให้ทำความสะอาดทั้งบ้านได้ในการชาร์จครั้งเดียว
แบตเตอรี่ของ Dyson V8 สามารถใช้งานปกติได้นาน 40 นาทีต่อการชาร์จ 1 ครั้งครับ ซึ่งนานกว่า V6 เดิมเท่าตัว (รุ่นเดิมทำงานได้ 20 นาที) เพราะปรับปรุงมอเตอร์ใหม่ และตัวแบตเตอรี่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมด้วย (แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ตัวเครื่องจะหนักกว่าแบบรู้สึกได้) ส่วนการใช้งานกับหัวดูดแบบนุ่มหรือ Fluffy และชุดหัวมอเตอร์ขนาดเล็กที่ใช้ทำความสะอาดที่นอน โซฟา ก็จะทำงานได้ 25 นาที เพราะต้องแบ่งพลังงานไปหมุนมอเตอร์ที่หัวดูด (รุ่นเดิมทำงานได้ 16 นาที) และถ้าหากใช้งานในโหมดเร่งพลังจะใช้งานได้ 7 นาที (ของเดิม 6 นาที) ซึ่งก็นานพอที่จะให้จัดการบ้านได้ทั่วถึงขึ้น จากประสบการณ์ที่เคยใช้รุ่นเดิมมา บางทีกำลังทำความสะอาดผ้าม่านทั้งบ้าน แต่แบตก็มาหมดซะก่อน ก็ต้องรอชาร์จใหม่อีกราวๆ 4 ชั่วโมงเลยทีเดียว
วิธีทิ้งฝุ่นแบบใหม่ หมดจดกว่าเดิม
จริงๆ เครื่องดูดฝุ่นไร้สายของ Dyson นั้นออกแบบการทิ้งฝุ่นค่อนข้างดีตั้งแต่รุ่นก่อนๆ แล้วครับ คือสามารถดันตัวเลือนเพื่อเปิดถังเก็บฝุ่นจากด้านล่างแล้วทิ้งฝุ่นได้ทันที แต่ปัญหาของการทิ้งฝุ่นในรูปแบบเดิมคือบางทีจะมีฝุ่นละเอียดติดแน่นกับตัวแกนเครื่องครับ ติดแบบเป็นแผ่นๆ เลย จนต้องเคาะเครื่องหลายรอบ หรือต้องแกะเอาถังเก็บฝุ่นออกมาเช็ดแกนเป็นระยะๆ แต่สำหรับ Dyson V8 นั้นมีการออกแบบวิธีทิ้งฝุ่นใหม่ คือสามารถดึงตัวแกนไซโคลนเรเดียลขึ้นมาเหนือช่องเก็บฝุ่น และผลักฝุ่นลงด้านล่างพร้อมกับเปิดฝาเพื่อทิ้งฝุ่นได้ทันที ซึ่งทำให้การทิ้งฝุ่นหมดจดและรวดเร็วขึ้นมาก ฝุ่นเหลือในถังเก็บฝุ่นน้อยกว่าเดิมเยอะ
แต่การทิ้งฝุ่นแบบใหม่ถ้าทำไม่ถูกวิธีก็อาจจะมีปัญหานะครับ วิธีการใช้งานที่ถูกต้องคือหลังจากดึงแกนไซโคลนเรเดียลขึ้นและฝาถังเก็บฝุ่นเปิดออกเพื่อทิ้งฝุ่นเรียบร้อยแล้ว เราต้องดันแกนไซโคลนเรเดียลกลับลงไปก่อน ถึงจะปิดฝาถังเก็บฝุ่นครับ ถ้าดึงดันจะทำผิดวิธี อาจจะเกิดปัญหาการใช้งานครั้งต่อๆ ไป ดึงตัวแกนไซโคลนเรเดียลขึ้นแล้วฝาถังไม่เปิดก็ได้ ซึ่งถ้ามีปัญหานี้ก็ต้องแยกส่วนเครื่องดูดฝุ่นตามวิธีในคู่มือ แล้วลองค่อยๆ ประกอบใหม่ให้สลักล็อกต่างๆ กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่ควรจะอยู่ครับ (ซึ่ง Dyson V8 สามารถแยกชิ้นตัวด้วยตัวเองได้อย่างน่าทึ่งเลยนะครับ ดึงเอาแกนไซโคลนเรเดียลออกจากตัวมอเตอร์ แล้วแยกเอาถังเก็บฝุ่นออกมาก็ได้ เพื่อทำความสะอาดได้)
หัวต่อหลากหลาย ครอบคลุมทุกงาน
จุดเด่นของเครื่องดูดฝุ่นไร้สายจาก Dyson ทุกรุ่นคือมีหัวต่อสำหรับทำความสะอาดได้หลากหลายแบบมากครับ ซึ่งสำหรับ Dyson V8 Fluffy รุ่นท็อปที่เราเอามารีวิวครั้งนี้มีอุปกรณ์ที่อัดแน่นอยู่ในกล่องเล็กๆ ดังนี้
ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้สามารถนำมาประกอบกันได้ เช่นเอาหัวดูดต่างๆ มาต่อกับท่อยาวสำหรับการทำความสะอาดพื้นหรือเพดานได้สะดวกขึ้น หรือต่อกับท่อโค้งเพื่อทำความสะอาดพื้นที่สูงได้ครับ
แต่ใน Dyson V8 นั้นมีการเปลี่ยนข้อต่ออุปกรณ์ทั้งหมดเป็นรุ่นใหม่ ที่ใช้งานง่ายขึ้น ทำให้ถ้าเราเคยมี Dyson รุ่นอื่นๆ อยู่แล้ว ก็ไม่สามารถใช้หัวที่มีอยู่เดิมกับ V8 ได้ (เช่นผู้เขียนมี Dyson V6 อยู่ แล้วมีหัวทำความสะอาดพื้นแบบแปรงแข็งที่ไม่มีใน V8 Fluffy ก็ไม่สามารถเอามาใช้ได้) และปัญหาอีกอย่างของหัวต่อรุ่นใหม่คือการเปลี่ยนดีไซน์ทำให้บริเวณข้อต่อมีพื้นที่ให้ฝุ่นเกาะมากขึ้น (ดูรูปด้านล่าง) ทำให้เวลาเปลี่ยนหัวต่ออาจจะต้องระวังฝุ่นที่จะร่วงลงมานิดหนึ่ง
สรุป Dyson V8 อุปกรณ์ทำความสะอาดบ้านยุคใหม่
ตอนนี้เราเข้าสู่ยุคทำความสะอาดบ้านด้วยหุ่นยนต์ทำความสะอาดกันเรียบร้อยแล้วนะครับ แต่ไปๆ มาๆ หุ่นยนต์ทำความสะอาดบ้านก็มีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย ทั้งต้องจัดพื้นที่ว่างในบ้านให้มันเดินทำความสะอาดได้ทุกวัน หรือสุดท้ายเราก็ต้องมาเก็บฝุ่นในพื้นที่อื่นๆ เช่นซอกมุม บนเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เองอยู่ดี
การลงทุนกับเครื่องดูดฝุ่นไร้สายอย่าง Dyson V8 อาจจะคุ้มค่ากว่าการซื้อหุ่นทำความสะอาด
ผู้เขียนจึงคิดว่าการลงทุนกับเครื่องดูดฝุ่นไร้สายอย่าง Dyson V8 อาจจะคุ้มค่ากว่าการซื้อหุ่นทำความสะอาด เพราะฟังก์ชั่นทำความสะอาดพื้น เราก็สามารถใช้ V8 ทำความสะอาดทั้งบ้านได้อย่างรวดเร็ว เราสามารถเดินไถเครื่องไปมาทั้งบ้านได้รวดเร็ว ไม่ต้องเสียบปลั้ก ถอดปลั้ก แล้วไปเสียบใหม่ตามจุดต่างๆ หรือไม่ต้องกวาดซ้าย กวาดขวา เพื่อเก็บฝุ่นลงที่โกย เพราะเราดูดเก็บไว้ในเครื่องหมดแล้ว คอนโดขนาดย่อมๆ อาจจะดูดฝุ่นที่พื้นทั้งห้องเสร็จในเวลาไม่ถึง 10 นาทีด้วยซ้ำ นอกจากนี้ V8 ยังสามารถทำความสะอาดฝุ่นบนฟูก ที่นอน โซฟา ผ้าม่าน ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งถ้าเห็นฝุ่นที่ dyson เก็บได้จากที่นอนแล้วจะสยอง มันเป็นเหมือนแป้งละเอียดๆ ที่ทำให้นอนแล้วคัน หรือจะใช้ดูดฝุ่นทำความสะอาดรถยนต์ หรือที่ใดๆ ก็ได้เพราะมันสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องเสียบปลั้กครับ แต่มีอย่างเดียวที่จัดการไม่ได้คือน้ำครับ Dyson V8 เป็นเครื่องดูดฝุ่นแห้ง ห้ามเอาไปดูดพื้นที่เปียก
ราคา 32,900 บาท
ที่นี่ก็ลองชั่งใจดูครับว่า Dyson V8 Fluffy ที่ราคา 32,900 บาท โหดเอาเรื่องนั้นเหมาะสำหรับคุณรึเปล่า แต่ถ้ารู้สึกว่าแพงไป ก็ยังมีรุ่น V6 อีกหลายตัวที่ราคาเบากว่านี้ (เครื่องก็เบากว่านะ) ให้ได้เลือกใช้ครับ ซึ่งก็ใช้งานได้ดีครับ
เครดิต www.beartai.com